นายแพทย์รัศมี คุณหญิงสมปอง วรรณิสสร ชื่อนี้ในสังคมไทยอาจไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่ในวงการคณะสงฆ์ถือว่าเป็น “อนาถบิณฑิกเศรษฐีและนางวิสาขา” จุติลงมาเกิด เพราะทั้งสองท่านมีศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา สนับสนุนให้ทุนการศึกษาให้พระภิกษุ-สามเณรหลายสิบรูป บริจาคเงิน บริจาคทรัพย์ให้กับคณะสงฆ์มากมาย

โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง ทั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยทั้งสองท่าน เหมือนกับยาทิพย์ชโลมใจ “ยามต้องการน้ำมันเดินเครื่องจักร”

ทั้งสองท่านรักและศรัทธาพระพุทธเจ้า เทิดทูนพระสงฆ์ ยิ่งกว่าชีวิต

ไม่มี นายแพทย์รัศมี คุณหญิงสมปอง วรรณิสสร มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยวังน้อยไม่เกิด ทั้งสองท่านยอมสละทรัพย์บริจาคที่ดินจำนวน 100 ไร่ สำหรับสร้างมหาวิทยาลัยเพื่อสร้าง “ศาสนทายาท” แก่วงการคณะสงฆ์

ตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา นายแพทย์รัศมี คุณหญิงสมปอง วรรณิสสร บริจาคเงินให้กับมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้แล้วไม่ต่ำกว่า 594,000,000 ล้านบาท ย้ำ ห้าร้อยเก้าสี่ล้านบาท หากคนไม่รักและศรัทธา ไม่มีจิตใจที่เสียสละดังพระโพธิสัตว์กระทำเยี่ยงนี่มิได้

ทั้งหมดที่บริจาค มิใช่เพราะ พระธรรมปัญญาบดี นายกสภา,มิใช่เพราะ พระพรหมบัณฑิต อดีตอธิการบดี และมิใช่ เพราะ พระราชปริยัติกวี อธิการบดีรูปปัจจุบัน

แต่เพราะทั้งสองท่านศรัทธาต่อ หลวงพ่ออาจ อาสภเถร อดีตผู้ปฎิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อดีตผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทย

ศรัทธา..เพราะหลวงพ่ออาจ เป็นพระนักวิปัสสนา เป็นพระนักสู้เพื่อความยุติธรรม เป็นพระที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล  เป็นพระที่ยอมติดคุกเพื่ออุดมการณ์ในการปกป้องพระธรรมวินัยและพระพุทธศาสนา

วันที่ 8 ธันวาคม 2563 เป็นวันครบรอบชาตกาล 117 ปี สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภเถร) นายแพทย์รัศมี คุณหญิงสมปอง วรรณิสสร  และ พระเทพประสิทธิมนต์ เจ้าอาวาสศรีสุดาราม ผู้ที่ชักชวนทั้งสองท่านให้มาร่วมสร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์ ถือว่าฤกษ์ดีวันนี้ ประกอบพิธีเททองหล่อรูปเหมือนของหลวงพ่ออาจ อาสภเถร ณ หน้าอุโบสถกลางน้ำ วัดมหาจุฬาราชูทิศ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย หล่อเสร็จแล้วจะไปประดิษฐานรูปเหมือนของหลวงพ่ออาจเอาไว้ ณ อาคารวิปัสสนาธุระ ภายในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งอาคารหลังนี้นายแพทย์รัศมี คุณหญิงสมปอง วรรณิสสร  ก็ได้บริจาคสร้างเอาไว้เช่นเดียวกัน เพื่อให้อนุชนรุ่นหลัง คณาจารย์ นิสิต ได้สักการะบูชา และเพื่อเป็นอนุสาวรีย์รำลึกถึงคุณแห่งความดีของของท่านด้วย

ผู้เขียนสัมผัสกับคุณหญิงสมปอง วรรณิสร ทั้งแต่ยุคทำงานอยู่ช่อง 11 สัมผัสแบบผิวเผิน เฉกเช่นเดียวกันกับพระเทพประสิทธิมนต์ เจ้าอาวาสวัดศรีสุดาราม เมื่อพบเจอก็จะเข้าไปกราบและเข้าไปสวัสดี แนะนำตัวเอง ในฐานะพระเทพประสิทธิมนต์ เป็นผู้สร้างอาคารภายในวัดศรีสุดารามให้พวกเราได้เรียน ได้อยู่ แบบสุขสบาย ส่วนนายแพทย์รัศมี คุณหญิงสมปอง วรรณิสสร แนะนำในฐานะผู้สร้างคุณูประโยชน์ต่อการศึกษาสงฆ์ไทยอย่างมหาศาล คือ กราบไหว้ได้อย่างสบายใจ

ด้วยวัย 90 กว่า ๆ ทั้งสองท่านในวันประกอบพิธีเททองหล่อรูปเหมือนของหลวงพ่ออาจ อาสภเถร เห็นทั้งสองนักรถเข็น ท่ามกลางอากาศที่ร้อนอบอ้าว อดเป็นห่วงมิได้ ยืนดูอยู่ห่าง ๆ แต่เมื่อเห็นทั้งสองยิ้มแย้มแจ่มใจทักทายพูดคุยกับคณะสงฆ์และฆราวาส ผู้บริหารมหาจุฬา ฯ ก็อดปลาบปลื้มยินดีกับสิ่งที่ท่านทำลงไม่ได้..นี่แหละหนอโบราณว่าไว้..เมื่อสุขใจกายแม้จะทุกข์ร้อนเพียงใดก็เป็นเรื่องรองลงไป

ผู้เขียนทราบว่า นายแพทย์รัศมี คุณหญิงสมปอง วรรณิสสร ในวัยไม้ใกล้ฝั่งแบบนี้ อยากเห็นผู้บริหารและนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยให้ความสำคัญกับวิปัสสนากัมมฐาน ตามรากฐานที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ หรือหลวงพ่ออาจ อาสภเถร ผู้เป็นอาจารย์ของทั้งสองท่านวางแบบ วางรากฐานไว้ในสถาบันแห่งนี้ อยากให้สืบสานต่อยอดต่อไป อย่างเข้มข้น

ตอนนี้ก็อยู่ที่ ผู้บริหารมหาจุฬา ฯ แล้วว่า จะตอบสนองปณิธานของนายแพทย์รัศมี และ คุณหญิงสมปอง วรรณิสสร อย่างไร ในฐานะผู้มีบุญคุณอย่างใหญ่หลวงต่อสถาบันการศึกษาพุทธศาสนาแห่งนี้ ในฐานะผู้บริจาคทรัพย์สินเกือบ 600 ล้าน ให้กับมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ที่มีจำนวนพระนิสิตและนิสิตนานาชาติมากที่สุดในประเทศไทย มีวิทยาเขตและสถาบันสมทบมากที่สุดในโลก..